กองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง
มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
(1) ดำเนินการตามกฎหมาย ในส่วนที่เป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงานกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(2) ควบคุมและกำกับดูแลเครื่องสำอาง ให้ได้มาตรฐานและเป็นไปตามกฎหมาย
(3) ดำเนินการรับจดแจ้งเกี่ยวกับเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง ยกเว้นกรณีเป็นการอนุญาตที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมและการบริการ
(4) ศึกษา วิจัย และจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับเครื่องสำอาง
(5) ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการขายเครื่องสำอาง ให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน
(6) ตรวจสอบ กำกับดูแล และเฝ้าระวังเครื่องสำอาง รวมทั้งการโฆษณาเครื่องสำอางให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้
(7) ให้ความรู้และคำแนะนำทางวิชาการ และพัฒนาข้อมูลเพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านเครื่องสำอาง
(8) พัฒนากฎหมาย หลักเกณฑ์ และกฎระเบียบที่สอดคล้องกับสากลให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย รวมทั้งประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย
(9) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง จัดแบ่งกลุ่มภารกิจ 1 ฝ่าย 4 งาน ดังนี้
1. ฝ่ายบริหารงานทั่วไป มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
1.1 งานสารบรรณ
1.2 งานการเงิน
1.3 งานพัสดุและยานพาหนะ
1.4 งานอำนวยการและสนับสนุนกลุ่มภารกิจอื่น ๆ
2. กลุ่มกำกับดูแลเครื่องสำอางก่อนออกสู่ตลาด มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
2.1 พิจารณา ให้คำแนะนำ อนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอรับแจ้ง คำขอนำเข้าเครื่องสำอางเฉพาะครั้ง ตลอดจนเปลี่ยนแปลงแก้ไขใบรับจดแจ้ง ต่ออายุ ทบทวน เพิกถอน และยกเลิกใบรับจดแจ้งในระบบ e-submission
2.2 ออกเอกสารรับรองเพื่อการส่งออก และรับรองสำเนาหนังสือรับรอง GMP
2.3 ประเมินเอกสารทางวิชาการของสารใหม่ที่ไม่เคยมีประวัติการใช้ในเครื่องสำอาง
2.4 ขอผลการตรวจสถานที่ผลิต หรือนำเข้าเครื่องสำอาง กรณีสถานที่ใหม่หรือย้ายสถานที่
2.5 แก้ไขรายละเอียดสถานประกอบการ
2.6 การศึกษาวิจัยและอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
3. กลุ่มกำกับดูแลเครื่องสำอางหลังออกสู่ตลาด มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
3.1 ตรวจสอบและเฝ้าระวังสถานที่ประกอบการผลิต นำเข้า และจำหน่ายรวมถึงคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ฉลาก และการโฆษณา ให้เป็นไปตามกฎหมาย ตลอดจนพิจารณาตรวจสอบ และให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องสำอาง
3.2 ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังสถานประกอบการ กรณีที่มีการร้องเรียน หรือสินบนนำจับ หรือกรณีพิเศษ รวมทั้งติดตามตรวจสอบแหล่งที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
3.3 พิจารณาการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ประมวลหลักฐาน เพื่อเสนอดำเนินคดี เพิกถอนหรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และเก็บรักษาของกลางทางคดี
3.4 ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังร่วมกับส่วนภูมิภาค กรณีที่ได้รับการร้องขอ หรือกรณีที่มีปัญหา
3.5 พัฒนาการผลิตเครื่องสำอางที่ผลวิเคราะห์ไม่เข้ามาตรฐาน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพผลิตภัณฑ์
3.6 พิจารณาให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตเครื่องสำอาง ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอาง (Good Manufacturing Practice for Cosmetics: GMP) และข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Product Information File: PIF)
3.7 พัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและนำเข้าเครื่องสำอาง ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอาง (Good Manufacturing Practice for Cosmetics: GMP) และหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอาง
3.8 การถ่ายโอนภารกิจการตรวจรับรองสถานที่ผลิตตามมาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอาง (ASEAN COSMETIC GMP) การขึ้นบัญชีหน่วยตรวจ การตรวจประเมินเพื่อติดตามผลการขึ้นบัญชี และออกหนังสือรับรองมาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอาง
3.9 รับผิดชอบการประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากและการโฆษณาเครื่องสำอาง กรณีการขอความเห็นเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องสำอาง
3.10 การศึกษาวิจัยและอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
4. กลุ่มพัฒนาระบบเครื่องสำอาง มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
4.1 จัดทำแผนงาน งบประมาณ โครงการต่าง ๆ และติดตามประเมินผล
4.2 พัฒนาบุคลากรในระบบงานคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการศึกษา/ดูงานทั้งภายในและภายนอก
4.3 รับผิดชอบระบบบริหารงานคุณภาพ (Quality System: QS) และการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award: PMQA)
4.4 ประสานงานเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร ข่าวประชาสัมพันธ์เรื่องที่มีผลกระทบเร่งด่วน เอกสารวิชาการ และเอกสารเผยแพร่
4.5 พัฒนาฐานข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์ของกลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง
4.6 การศึกษาวิจัยและอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
5.กลุ่มกำหนดมาตรฐานเครื่องสำอาง มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
5.1 พัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบมาตรฐาน ประกาศ และข้อกำหนดด้านเครื่องสำอาง
5.2 ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสภาพปัญหา และเสนอแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเครื่องสำอางในงานส่วนที่เกี่ยวข้อง
5.3 ดำเนินการประชุมคณะทำงานพิจารณากฎหมายลำดับรองสำหรับพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
5.4 ดำเนินการประชุมคณะอนุกรรมการมาตรฐานเครื่องสำอาง
5.5 ดำเนินการประชุมคณะกรรมการเครื่องสำอาง
5.6 ให้ความเห็นการวินิจฉัยประเภทผลิตภัณฑ์
5.7 ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย กำหนดแนวทางติดตาม และประเมินผลทางวิชาการ เพื่อพัฒนางานในส่วนที่เกี่ยวข้อง
5.8 แลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ เพื่อพัฒนามาตรฐานและหลักเกณฑ์ด้านเครื่องสำอาง
5.9 รับผิดชอบงานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ รวมถึงการเข้าร่วมประชุมด้านต่างประเทศ เพื่อพัฒนามาตรฐานและหลักเกณฑ์ด้านเครื่องสำอาง
5.10 ให้ข้อมูล ตอบข้อสอบถามเกี่ยวกับกฎหมายเครื่องสำอาง
5.11 การศึกษาวิจัยและอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย